ข้อบังคับ (ใหม่)
“สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย”

 

หมวดที่ 1 ชื่อ - และที่ตั้ง

ข้อ 1 สมาคมฯ นี้มีชื่อว่า “สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า “Media
Agency Association of Thailand”

ข้อ 2 ตราของสมาคมฯ มีเครื่องหมายเป็นตัวอักษรย่อภาษาอังกฤษสีดำว่า MAAT โดยมีลวดลายเป็นจุดสีหยดสีแดงตรงตัวอักษร A ตัวที่ 2 ซึ่งมีความหมายแทนการกระจายสื่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย และมีชื่อเต็มภาษาอังกฤษ Media Agency Association of Thailand อยู่เบื้องล่าง

maat logo

 

ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาคมฯ ตั้งอยู่เลขที่ 40/64 หมู่ 3 อาคารโอซีเอ็ม ชั้น 3 ซอยสยามสามัคคี (วิภาวดีรังสิต 66) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

คำว่า “สมาคมฯ” ในข้อบังคับนี้ ให้หมายความถึง “สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย”

 

หมวดที่ 2 วัตถุประสงค์

ข้อ 4 สมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

4.1 เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบธุรกิจมีเดียเอเยนซี่ และผู้ประกอบธุรกิจโฆษณา และสื่อโฆษณา รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ความสามัคคีอันดี รวมทั้งพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์โดยชอบธรรมในระหว่างสมาชิก

4.2 ร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนาธุรกิจสื่อโฆษณา เพื่อให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรฐานสื่อโฆษณา

4.3 พัฒนาศักยภาพของบุคลากรในวงการสื่อโฆษณา ตลอดจนส่งเสริมมาตรฐานในวิชาชีพ และจริยธรรมทางธุรกิจ

4.4 ส่งเสริมการวิจัย และตรวจสอบประสิทธิภาพของสื่อโฆษณา ให้ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

4.5 เป็นศูนย์กลางสำหรับสมาชิกในการเผยแพร่ข่าวสาร แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งติดต่อประสานงานกับสถาบัน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ

4.6 สนับสนุนกิจกรรมของสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโฆษณา

 

หมวดที่ 3 สมาชิกและสมาชิกภาพ

ข้อ 5 ประเภทสมาชิกของสมาคมฯ มี 6 ประเภท และลักษณะดังต่อไปนี้

5.1 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่บุคคลซึ่งคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรด้วยมติ 2 ใน 3

5.2 สมาชิกสามัญ ได้แก่สมาชิกที่เป็น

ก. บุคคลผู้ปฏิบัติงานในบริษัทวางแผนและซื้อสื่อโฆษณา หรือในบริษัทโฆษณา

ข. บุคคลในแผนกวางแผนและซื้อสื่อโฆษณาของบริษัท หรือห้างร้านทั่วไป

ค. บุคคลซึ่งเป็นคนกลางในการติดต่อหรือซื้อขายสื่อโฆษณา

ง. บุคคลผู้ผลิตสื่อโฆษณา หรือขายเนื้อที่ หรือเวลาสื่อโฆษณา

จ. บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและวิชาชีพสื่อโฆษณา หรือวิชาชีพโฆษณา

 

844421224928784

 

5.3 สมาชิกสถาบันประเภท ก ได้แก่

5.3.1 บริษัทวางแผนและซื้อสื่อโฆษณา (Media Agency)

5.3.2 บริษัทโฆษณาที่มีหน่วยงานวางแผนและซื้อสื่อโฆษณารวมอยู่ด้วย (Full Service Agency)

5.3.3 หน่วยงานหรือหน่วยธุรกิจย่อยภายในบริษัท Media Agency หรือ Full Service Agency ที่มีลักษณะการทำงานแยกเป็นอิสระจากบริษัทแม่ หรือจากหน่วยงานอื่น โดยไม่คำนึงถึงความเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ถือว่า หน่วยงานหรือหน่วยย่อยดังกล่าวนี้ มีสมาชิกภาพเป็นเอกเทศแยกต่างหากจากบริษัทแม่ ซึ่งมีหน้าที่ชำระค่าบำรุงรายปีเต็มจำนวนเช่นเดียวกับสมาชิกตามข้อ 5.3.1 และ 5.3.2 และให้มีสิทธิในการออกเสียงเป็นเอกเทศตามที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับนี้

5.4 สมาชิกสถาบันประเภท ข ได้แก่สมาชิกที่เป็นบริษัทโฆษณานอกเหนือจากที่ระบุไว้ในประเภท ก บริษัทวิจัยเกี่ยวกับงานโฆษณา บริษัทสื่อ บริษัทผู้ผลิตสื่อ บริษัทห้างร้านผู้ผลิตวัสดุที่ใช้ในการโฆษณา สถาบันการศึกษา หรือบริษัทและสถาบันอื่นๆ ที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควร ทั้งนี้สมาชิกสถาบันหนึ่งราย ให้หมายถึงหนึ่งบริษัท มิใช่กลุ่มบริษัท

5.5 สมาชิกอุปถัมภ์ ได้แก่สมาชิกที่มีคุณสมบัติเหมือนสมาชิกสถาบันประเภท ข ที่เป็นบริษัทผลิตสื่อโฆษณา หรือขายเนื้อที่ หรือเวลาสื่อโฆษณา หรือบริษัทอื่นใด ที่แสดงความประสงค์ในการให้การสนับสนุนและอุปถัมภ์กิจการของสมาคมฯ เป็นการพิเศษ

5.6 สมาชิกสมทบ ได้แก่บุคคลนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้แล้ว และคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรให้รับเข้าไว้เป็นสมาชิก

ข้อ 6 การเข้าเป็นสมาชิก ผู้สมัครต้องดำเนินการดังนี้

6.1 ผู้สมัครต้องแสดงความจำนงต่อเลขาธิการ โดยกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์ของ สมาคมฯ และมีสมาชิกสามัญรับรองไม่น้อยกว่า 2 คน เว้นแต่การสมัครเป็นสมาชิกสถาบันทั้งสองประเภท และสมาชิกอุปถัมภ์ ไม่ต้องมีผู้รับรอง

6.2 ผู้สมัครจะต้องผูกพันตนตามข้อบังคับว่าด้วยหน้าที่ของสมาชิกสมาคมฯ

6.3 เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควรจะรับเป็นสมาชิกได้ เลขาธิการจะแจ้งให้ผู้สมัครทราบว่าสมาคมฯ ได้รับเข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ผู้สมัครจะเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ชาระเงินค่าบำรุงตามข้อบังคับของสมาคมฯ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบเป็นต้นไป

6.4 ผู้สมัครคนใดที่คณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรจะรับไว้เป็นสมาชิกจะขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกอีกในปีเดียวกันไม่ได้

ข้อ 7 ค่าบำรุงสมาคมกำหนดตามประเภทของสมาชิกดังนี้

7.1 สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ จะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 500 บาท

7.2 สมาชิกสถาบันประเภท ก จะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 20,000 บาท

7.3 สมาชิกสถาบันประเภท ข จะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 10,000 บาท

7.4 สมาชิกอุปถัมภ์จะต้องเสียค่าบำรุงปีละ 100,000 บาท

7.5 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าบำรุงรายปี

ข้อ 8 สิทธิของสมาชิกมีดังนี้

8.1 สิทธิในการออกเสียงในการประชุมใหญ่ประจำปี เป็นดังนี้

8.1.1 สมาชิกสามัญ สมาชิกกิตติมศักดิ์ และสมาชิกสมทบ มีสิทธิในการประชุมใหญ่เท่ากับ 1 เสียง

8.1.2 สมาชิกสถาบันประเภท ก มีสิทธิในการประชุมใหญ่เท่ากับ 5 เสียง

8.1.3 สมาชิกสถาบันประเภท ข มีสิทธิในการประชุมใหญ่เท่ากับ 2 เสียง

8.1.4 สมาชิกอุปถัมภ์ มีสิทธิในการประชุมใหญ่เท่ากับ 1 เสียง

8.2 สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิเสนอความคิดเห็นในการปรับปรุงกิจการของสมาคมฯ

8.3 สมาชิกทุกประเภท มีสิทธิได้รับเอกสารเผยแพร่ความรู้และกิจการต่าง ๆ ของสมาคมฯ

8.4 สมาชิกอุปถัมภ์จะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นกรณีพิเศษ ตามที่คณะกรรมการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรไว้

8.5 สมาชิกจะใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้นได้ต่อเมื่อได้ชำระค่าบำรุงสมาชิกตามข้อบังคับของสมาคมฯ แล้ว

ข้อ 9 หน้าที่ของสมาชิก มีดังนี้

9.1ต้องยึดถือเอาจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณาดังต่อไปนี้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ

9.1.1 ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตามหลักปฏิบัติและวิชาการ และอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฏหมาย

9.1.2 ไม่ทำการใดๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

9.1.3 มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียในจริยธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม

9.1.4 ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันเป็นการดูหมิ่นเชื้อชาติ ศาสนา หรือความเชื่อถือ หรือสิ่งอันเป็นที่เคารพสักการะของบุคคลทั่วไป

9.1.5 ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันทำให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับ สินค้า บริการ การแสดง หรืออื่น ๆ หรือโอ้อวดสรรพคุณจนเกินความจริงจนทำให้ผู้เห็นหรือผู้ฟังเกิดความสำคัญผิด

9.1.6 ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยใช้ความเชื่อถือเกี่ยวกับไสยศาสตร์ หรือเรื่องโชคลางมาเป็นข้อจูงใจ

9.1.7 ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยการเลียนแบบเครื่องหมายการค้า คำขวัญ หรือข้อความสำคัญจากการโฆษณาของผู้อื่น อันทำให้ผู้อื่นเห็น หรือผู้อื่นได้ยินเกิดความเข้าใจผิดหรือไขว้เขวเกี่ยวกับสินค้าบริการ หรือการแสดงของผู้อื่น

9.1.8 ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยใช้ศัพท์สถิติ ผลการวิจัย หรืออ้างอิงรายงานทางวิทยาศาสตร์ในทางที่ไม่สมควร หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยที่สินค้านั้นไม่มีคุณสมบัติตามที่อ้าง

9.1.9 ไม่ควรกระทำการโฆษณาโดยอ้างถึงตัวบุคคล หรือสถาบัน โดยที่ตัวบุคคล หรือสถาบันนั้นไม่มีตัวตนอยู่จริงและไม่ได้ใช้สินค้าและบริการ หรือชมการแสดงนั้นจริง

9.1.10 ไม่ควรกระทำการโฆษณาอันอาจมีผลเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือผู้เยาว์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ หรือทำให้ขาดความรู้สึกผิดชอบ หรือโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของบุคคลดังกล่าวมาใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจโดยไม่สมควร

9.2 ปฏิบัติตนภายใต้หลักของการแข่งขันที่ยุติธรรม

9.3 ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคมฯ มติของที่ประชุมใหญ่ มติของคณะกรรมการบริหาร และหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากสมาคมฯ ด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด

9.4 ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้เสียของสมาคมฯ ตลอดจนต้องรักษาความลับในข้อประชุมหรือวิธีการของสมาคมฯ ไม่เปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคมฯ โดยเด็ดขาด

9.5 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมฯ ให้เจริญรุ่งเรือง และมีความก้าวหน้าอยู่เสมอ

9.6 ต้องรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีระหว่างสมาชิก

9.7 ชำระค่าบำรุงให้แก่สมาคมฯ ตามกำหนด

9.8 สมาชิกผู้ใดเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน เปลี่ยนแปลงประเภทวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนผู้แทนนิติบุคคล จะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลาเจ็ดวัน นับแต่เปลี่ยนแปลง

ข้อ 10 สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบ จะขาดจากสมาชิกภาพในกรณีต่อไปนี้

10.1 ตาย

10.2 ลาออก

10.3 มติคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควรให้ขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ 11 สมาชิกสถาบันประเภท ก สมาชิกสถาบันประเภท ข และสมาชิกอุปถัมภ์ จะขาดจากสมาชิกภาพในกรณีต่อไปนี้

11.1 เลิกนิติบุคคล

11.2 ลาออก

11.3 มติคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควรให้ขาดจากสมาชิกภาพ

ข้อ 12 สมาชิกสามัญและสมาชิกสมทบอาจจะเปลี่ยนประเภทซึ่งกันและกันได้ในเมื่อได้มีการเปลี่ยนอาชีพและได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบ

 

หมวดที่ 4 การบริหาร

ข้อ 13 สมาคมฯ นี้บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ ประกอบด้วยกรรมการจำนวนไม่เกิน 15 คน ดังต่อไปนี้

13.1 นายก 1 ตำแหน่ง

13.2 เลขาธิการ 1 ตำแหน่ง

13.3 เหรัญญิก 1 ตำแหน่ง

13.4 อุปนายก

13.4 กรรมการ

ข้อ 14 นอกเหนือจากตำแหน่งดังกล่าวแล้วคณะกรรมการบริหารอาจแต่งตั้งกรรมการหรืออนุกรรมการอื่นๆ ขึ้นปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม และอาจแต่งตั้งบุคคลภายนอกขึ้นเป็นกรรมการที่ปรึกษาได้ไม่จำกัดจำนวน รวมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำของสมาคมฯ อีกด้วย

 

หมวดที่ 5 ที่มาของคณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ

ข้อ 15 ที่มาของคณะกรรมการบริหาร มีดังนี้

15.1 ให้เลือกตั้งนายกสมาคมฯ โดยที่ประชุมใหญ่ ด้วยวิธีเสนอชื่อผู้สมควรจะเป็นนายกสมาคมฯ ซึ่งจะต้องเป็นผู้แทนจากสมาชิกสถาบันประเภท ก เท่านั้น จากนั้นให้มีสมาชิกรับรองอย่างน้อย 7 คน แล้วให้สมาชิกเท่าที่มีอยู่ในที่ประชุม ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคมฯ ผู้ที่ได้
คะแนนเสียงสูงสุดถือว่าได้รับเลือกเป็นนายกสมาคม

15.2 กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ที่เหลือ ให้นายกสมาคมฯ ที่ได้รับเลือกตั้ง เป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งจากสมาชิกสถาบันประเภท ก สมาชิกสถาบันประเภท ข หรือสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 16 อำนาจหน้าที่ของกรรมการตำแหน่งต่าง ๆ มีดังนี้

16.1 นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้การดำเนินการของสมาคมฯ เป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบการในการปฏิบัติงานของสมาคมฯ และเป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารตลอดจนในที่ประชุมใหญ่

16.2 เลขาธิการ มีหน้าที่ดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริหาร และการประชุมใหญ่ หรือหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมฯ

16.3 เหรัญญิก มีหน้าที่เก็บรักษาและจ่ายเงินของสมาคมฯ ควบคุมการจัดทำบัญชีและงบการเงินของสมาคมฯ หรือหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกสมาคมฯ

16.4 ให้นายกสมาคมฯ เลขาธิการ และ เหรัญญิก เป็นผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายเงินของสมาคมฯ โดยมีเงื่อนไขให้มีผู้ลงนามสั่งจ่ายสองในสามของผู้มีอำนาจลงนาม

16.5 กรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ มีหน้าที่ดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคมฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริหาร หรือจากนายกสมาคมฯ

 

หมวดที่ 6 อายุและการสิ้นสุดของกรรมการ

ข้อ 17 อายุและการสิ้นสุดของกรรมการ มีดังนี้

17.1 นายกสมาคมฯ อยู่ในตำแหน่งได้วาระละ 2 ปี นับแต่วันที่มีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ แต่จะอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 2 วาระ ไม่ได้

17.2 กรรมการอื่น ๆ อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระของนายกสมาคมฯ ที่เป็นผู้แต่งตั้ง

17.3ความเป็นกรรมการจะสิ้นสุดลงเพราะ

ก. ถึงคราวออกตามวาระ

ข. ตาย

ค. ลาออก

ง. ขาดสมาชิกภาพ

 

หมวดที่ 7 การประชุม

boardmtg2

 

ข้อ 18 การประชุมคณะกรรมการบริหาร

18.1 คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ จะต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยให้มีการประชุมครั้งแรกภายใน 1 เดือนหลังจากที่ได้รับแต่งตั้ง จากนั้นให้นายก หรือเลขาธิการเป็นผู้กำหนด

18.2 การประชุมของคณะกรรมการบริหารจะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 5 ท่าน จึงจะถือว่าเป็นองค์ประชุม

18.3 มติที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของกรรมการเป็นสำคัญ หากมีเสียงเท่ากัน ให้ประธาน ในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 19 การประชุมใหญ่สามัญประจำปี

19.1 คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่ของสมาคมฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อ

19.1.1 พิจารณากิจการและรับรองฐานะการเงิน ของสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา

19.1.2 แต่งตั้งผู้สอบบัญชี

19.1.3 เลือกตั้งนายกสมาคมฯ เมื่อครบกำหนดตามข้อ 15

19.1.4 แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ

19.1.5 เรื่องอื่น ๆ

19.2 คณะกรรมการบริหารของสมาคมฯ จะต้องเป็นผู้กำหนดวันเวลา สถานที่และระเบียบวาระการประชุม โดยให้เลขาธิการของสมาคมฯ แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า 7 วัน

19.3 การตัดสินปัญหาใด ๆ ในการประชุมสมาชิก ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมเป็นมติ ในกรณีที่มีเสียงเท่ากัน ให้ประธานที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

19.4 การประชุมใหญ่ต้องมีสมาชิกประชุมร่วมกันไม่น้อยกว่า 30 เสียง จึงจะถือเป็นองค์ประชุม

ข้อ 20 การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจมีขึ้นได้ ในกรณีต่อไปนี้

20.1 คณะกรรมการบริหารพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการสมควรที่จะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ

20.2สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 30 เสียง มีสิทธิร้องขอให้นายกสมาคม เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ แต่ในหนังสือร้องขอนั้นต้องระบุว่าจะให้ประชุมใหญ่วิสามัญในเรื่องใด เมื่อนายกสมาคม ได้รับหนังสือร้องขอแล้ว ต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในกาหนด 30 วัน

 

หมวดที่ 8 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ 21 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในกรณีใด ๆ ก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ ประชุมใหญ่โดยมติ 2 ใน 3

 

หมวดที่ 9 การเลิกสมาคมฯ

ข้อ 22 เมื่อเลิกสมาคมฯ ถ้ามีทรัพย์สินเหลืออยู่จากที่ได้ชำระบัญชีแล้ว ให้มอบ หรือโอนทรัพย์สิน เหล่านั้น ให้แก่สาธารณะกุศลที่เป็นนิติบุคคลตามมติของที่ประชุมใหญ่ (ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศล สาธารณประโยชน์)

 

 

 

(ลงชื่อ)


ผู้จัดทำข้อบังคับ
(นางปรีชญา เกียรติคณารัตน์)

(ลงชื่อ)


นายกสมาคมฯ
(นางวรรณี รัตนพล)